วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข่าวสาร และ วัตถุมงคล ปัจจุบัน

พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (เจริญ ฐานยุตฺโต)
 
 
 



                                                 วัตถุมงคลจากวัดโดยตรงทางไปรษณีย์

ประวัติวัดโนนสว่าง

                                              ประวัติวัดโนนสว่าง
 
                        บ้านโนนสว่าง ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


 
 
 
วัดโนนสว่าง เดิมเป็นสำนักสงฆ์มีที่ดินจำนวน ๑๗ ไร่ ๒ งาน ๙๐ ตารางวาถวายโดยนายยอด เชยงูเหลือม ต่อมาได้รับอนุญาติให้สร้างวัดเมื่อวันที่ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เดิมชื่อว่าวัดศรีสว่าง ต่อมาเพื่อปฏิบัติตามนโยบายของคณะสงฆ์ที่ต้องการให้ชื่อวัดมีชื่อเดียวกัน กับหมู่บ้าน จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดโนนสว่าง ต่อมาเมื่อภายหลังเจ้าอาวาสรูปแรกคือ พระครูพุทธศาสโนวาท (ชาลี ถาวโร) ได้มรณภาพลง ชาวบ้านโนนสว่าง จึงพร้อมใจกันอาราธนา พระอาจารย์เจริญ ฐานยุตฺโต โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ ๑ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยได้ทำการปักหมายเขต และมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไปเล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๔๒ ง กำหนดเขตกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๘ เมตร เป็นที่เรียบร้อย ต่อมาพระครูพัฒน์วิทยาคม ได้ทำการก่อสร้างศาสนวัตถุอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ จำนวน ๑ หลัง สร้างหอระฆังจำนวน ๑ หลัง สร้างศาลาปฏิบัติธรรม จำนวน ๑ หลัง สร้างกุฎีที่พักสงฆ์ จำนวน ๑๔ หลัง สร้างศาลาหอฉันภัตตาหารพระภิกษุสามเณร จำนวน ๑ หลัง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พระครูพิพัฒน์วิทยาคม ได้ซื้อที่ดินขยายเนื้อที่วัดออกไปอีกจำนวน ๔๖ ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดในวัด ๖๖ ไร่ 

ลำดับเจ้าอาวาส
1. พระครูพุทธศาสโนวาท (ชาลี ถาวโร)
2. พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (เจริญ ฐานยุตฺโต) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
 









ประวัติการก่อสร้างอุโบสถ

ประวัติการก่อสร้างอุโบสถ
วัดโนนสว่าง ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


วัดโนนสว่าง ต.หมากหญ้า อ.หนองวัซอ จ.อุดรธานีเมื่อแรกสร้างนั้นศาสนสถานของวัดมีเพียงศาลาไม้เก่าเพียง ๑ หลัง กับกุฎิสงฆ์ที่ชำรุดทรุดโทรมเพียงไม่กี่หลัง พระครูพิพัฒน์วิทยาคม ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงได้ริเริ่มพัฒนาวัดเป็นการใหญ่ เห็นว่าไม่มีอุโบสถซึ่งเป็นสถานที่จำเป็นสำหรับประกอบศาสนพิธีของพระสงฆ์ และประกอบงานพิธีต่างๆ ของพุทธศาสนิกชน จึงได้เริ่มทำการก่อสร้างอุโบสถขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยออกแบบเป็นรูปทรงจตุรมุข(พรหมสี่หน้า) และได้มีพุทธศาสนิกชน จำนวนมากร่วมบริจาคทรัพย์ในการนี้ จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยทางวัดได้สร้างฉัตรทองคำขึ้นเพื่อนำประดิษฐานบนยอดอุโบสถ บริเวณหน้าบรรณอุโบสถด้านทิศเหนือ ได้ขออนุญาตอัญเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ  วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ หนังสือลงวันที่ รล ๐๐๐๓/๑๒๒๐๗ อุโบสถหลังนี้เป็นที่ประดิษฐาน พระศรีรัตนศักยมุนี (หลวงพ่อบุษราคัม) ซึ่งเป็นพระประธานเนื้อสัมฤทธิ์หน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว ปางมารวิชัยซึ่งในการหล่อนี้ทางวัดได้กราบทูลเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา ศิริวัฒนาพรรณวดีเสด็จเป็นองค์ประธานเททองหล่อ เมื่อวันที่  ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

ประวัติย่อๆ หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตโต

ประวัติย่อๆ หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตโต วัดโนนสว่าง หนองวัวซอ อุดรธานี


หลวงพ่อเจริญท่าน ได้บรรพชาเป็นเณรตั้งแต่อายุได้สิบขวบ โดยพื้นฐานอุปนิสัยหลวงพ่อเป็นผู้สนใจในด้านพระคาถา อาคม พุทธเวทย์ต่างๆขณะเป็นสามเณรจึงได้ตั้งใจศึกษา อักขระต่างๆจากอาจารย์ที...่เป็นฆราวาสและครูบาอาจารย์ ที่เป็นพระสงฆ์ ด้วยความไฝ่รู้ใฝ่ศึกษาทำให้หลวงพ่อเจริญ มีความรู้แตกฉาน เชี่ยวชาญในการอ่านในการแปลในการเขียน อักขระต่างๆได้หลากหลายภาษาเช่น อักขระล้านนา อักขระธรรม(ขอมอิสาน)อักขระขอม(ภาคกลาง)อักขระไทยน้อย นับตั้งแต่เป็นสามเณร หลวงพ่อก็ครองอยู่ในสมณะเพศเรื่อย ท่านไม่เคยลาสิกขา ไม่เคยมีครอบครัวยังคงเพศพรหมจรรย์ เนื่องด้วยหลวงพ่อมุ่งมั่นที่จะศึกษาค้นคว้า หาความรู้จากพระ คาถาต่างๆอยู่ตลอดเวลาทำให้หลวงพ่อมีความรู้ความเข้าใจ ในศาสตร์ต่างๆหลากหลายแขนง

เมื่อพศ.2537หลวงพ่อเจริญท่านได้รับพระราชทินนาม เป็น พระครูพิพัฒน์พิทยาคม (ฝ่ายธรรมยุติ)เฉกเช่น หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระราช วิทยาคม แห่งวัดบ้าน ไร่ (ฝ่ายมหานิกาย)ขณะนั้นถือได้ว่าเป็นราชทินนาม สายวิทยาคม ฝ่ายธรรมยุติรูปเดียวในประเทศ

หลวงพ่อท่านเก่งทุกด้าน เรื่องว่านยา ท่านเก่งแก้กันคุณไสย์อาบน้ำมนต์ไล่มนต์ดำ ท่านสงเคราะห์ญาติโยมจนหาย เจ็บไข้ได้ป่วยท่านแก้ให้ด้วยว่านยา ด้านวัตถุมงคลของหลวงพ่อได้สร้างออกมาหลาย รุ่น และมีประสบการณ์มากมายในเหล่าลูกศิษย์ แทบทุกรุ่นของหลวงพ่อก็มี ประสบการณ์เรื่อยๆ เรียกได้ครอบจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นค้าขาย เขี้ยวงา มหาอุต เมตตามหานิยม ทำให้มีคนตามหากันมากมายโดยเฉพาะรุ่นแรกๆของหลวงพ่อซึ่ง ลูกศิษย์ลูกหาที่มีไว้ต่างก็หวงแหนกันมากๆ
 
อ่านประวัติเพิ่มเติมตามนี้ครับ http://luangporcharoen.blogspot.tw/2014/05/blog-post.html

พิธีพุทธาภิเษกผึ้งพันน้ำมันหมื่น

                          พิธีพุทธาภิเษกผึ้งพันน้ำมันหมื่น



พระครูพิพัฒน์วิทยาคมผู้สืบสานตำหรับวิชาพุทธาคมอีสานโบราณผึ้งพัน น้ำมันหมื่น ในการปลุกเสกวัตถุมงคลของพระครูพิพัฒน์วิทยาคม ในขณะปลุกเสกนั้น จะต้องนั่งบนอาสนะที่หล่อด้วยขี้ผึ้งแท้หนักสี่หมื่นหรือ ๔๘ กิโลกรัม และบริกรรมธาตุและพระคาถาด้วยลูกประคำงาช้างจำนวน ๒๑๖ ลูก และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้คือ ครุภัณฑ์ ซึ่งก็คือเครื่องบูชาพระรัตนตรัยชุดใหญ่ อันประกอบด้วยเครื่องบูชาตามตำหรับโบราณหลายชนิดเช่น เครื่องพัน หมายถึงจำนวนทุกอย่างพันชิ้น และน้ำมันหมื่น อันได้แก่น้ำมันหลายชนิดเช่นน้ำมันงา หรือน้ำมันยางแบบโบราณแท้ ซึ่งทั้งหมดทั้งนั้นก็ คือเครื่องบูชาพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งแต่สมัยโบราณ กล่าวกันสืบๆมาว่า ครูบาอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมสายอีสานโบราณจนถึงผู้ทรงวิทยาคมทางฝั่งลาวหากจะเรียนสรรพวิทยาคมต่างๆ หรือจะลงประจุคาถาอาคมลงในวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นนั้น ต้องแต่งเครื่องบูชาด้วยเครื่องบูชาที่เรียกว่า ผึ้งพัน น้ำมันหมื่นเท่านั้น เมื่อแต่งเครื่องบูชาแล้วจึงเริ่มทำพิธีมหาพุทธาภิเษก และลงประจุอาคม ที่สำคัญต้องกระทำการในวันบุญมหาชาติเท่านั้น จึงจะได้วัตถุมงคลที่ศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังมีอานุภาพเต็มเปี่ยมไปด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพและสังฆานุภาพ

ผึ้งพัน ประกอบด้วยเทียนขี้ผึ้งแท้ หนึ่งพันเล่ม ธูปพันดอก เมี่ยงหมากพันชุด บุหรี่พันมวน ดอกไม้ประกอบด้วย ดอกผักตบ ดอกบัวหลวง ดอกอัญชัน ดอกปีบ (ดอกก้านของ) ดอกโสน (ใช้ลำโสนมาแต่งเป็นดอกไม้) ดอกคัดเค้า ขันบายศรี ข้าวเหนียวปั้นพันก้อน กรวยกระทงใบฝรั่งพันกรวย เงินพันบาท ธงช่อ ธงหาง ข้าวคั่วตอกแตก จัดให้ได้อย่างละพัน พอสังเขปเท่านี้ และมีอีกหลายชนิดที่ไม่ขอกล่าวถึง

น้ำมันหมื่น โบราณใช้น้ำมันยาง หรือน้ำมันงาหนักหนึ่งหมื่น ใส่กระปุกหรือขวดแก้ว ทุกอย่างที่กล่าวใส่ลงในภาชนะพานโตก หรือภาชนะจักสานขนาดใหญ่ ส่วนเทียนขี้ผึ้งห่อรวมกันไว้ด้วยผ้าขาวแล้วพันด้วยด้ายฝ้ายดิบสีขาว ทุกอย่างรวมเรียกว่า ครุภัณฑ์ เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า นี่คือที่มาของคำว่าผึ้งพัน น้ำมันหมื่นที่พระครูพิพัฒน์วิทยาคมใช้เป็นเครื่องบูชาพระธรรมในการพิธีพุทธาภิเษกของวัดโนนสว่างตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

พิธีพุทธาภิเษกของวัดโนนสว่างนั้น จะมีตำราสวดพุทธาภิเษกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระครูพิพัฒน์วิทยา เป็นสมุดไทย ๑ ชุดมีจำนวน ๔ เล่มใหญ่ มีชุดที่เป็นอักษรธรรมเขียนด้วยลายมือท่านเอง และชุดที่พิมพ์ด้วยอักษรไทย ซึ่งเนื้อหาจะประกอบด้วยพระคาถามากมายเป็นเอกลักษณะเฉพาะ

จึงสรุปได้ว่า พิธีพุทธาภิเษกจะต้องดำเนินไปด้วยความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ และถูกต้องตามระเบียบแบบแผนตามแนวทางของผู้ทรงวิทยาคมอีสานโบราณ

ประเพณี การเส็งกลองกริ่ง



                                   ประเพณี การเส็งกลองกริ่ง
       พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (เจริญ ฐานยุตโต)






ได้เป็นผู้นำในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณีโบราณของชาวอีสาน ให้กลับมาอีกครั้งโดยจัดให้มีการแข่งขันเส็งกลองกริ่งในงานเทศกาลประจำปี หรือวาระอื่นๆ ที่สำคัญเป็นประจำทุกปี โดยมีโล่ห์รางวัลเกียรติยศ พร้อมด้วยเงินรางวัลให้แก่ผู้เข้าร่วมแข็งขัน โดยทางวัดได้สร้างกลองขึ้นมาเองทั้งหมด เนื่องจากหลวงพ่อเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในการทำกลองมาก จะเริ่มตั้งแต่หาไม้ที่เหมาะสมแก่การทำกลอง แล้วมากลึงให้ได้ขนาดและรูปร่างที่ต้องการ แล้วใช้หนังควาย หรือหนังวัวที่ผ่านการตากและขูดผิวเรียบร้อยแล้ว นำมาขึงหน้ากลอง ซึ่งขั้นตอนการขึงหน้ากลองนั้นหากไม่มีความเชี่ยวชาญแล้วยากที่จะตั้งให้ได้ เสียงกลองที่ต้องการ และกลองของวัดโนนสว่างนั้นมีเสียงเป็นที่เลื่องลือว่าดังก้องกังวานมาก ยิ่งตียิ่งดัง เสียงต้องดังกริ่ง กริ่ง เหมือนเคาะตีเหล็ก ไม่ดังตึง ตึง แซะ แซะ เนื่องจากกลองกริ่งต้องดังกังวานเหมือนตีเหล็กจึงถูกต้อง ส่วนไม้ตีนั้นหลวงพ่อให้ใช้ด้ามจับเป็นเหล็กหรือไม้ ส่วนท่อนปลายนั้นใช้ตะกั่วหล่อเป็นก้อน ใช้ตีด้วยแรงมหาศาลก็ยากที่จะแตกหักได้ ส่วนระเบียบการเข้าแข็งขันและวิธีการนั้นจะได้กล่าวถึงดังต่อไปนี้ 

การตั้งคณะกรรมการ
การตั้งกรรมการเพื่อให้ทำหน้าที่ตัดสันการแข่งขันกลองเส็งนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะถือว่าเป็นบันไดขั้นสุดท้าย เป็นเครื่องชี้ขาด และให้ความเที่ยงธรรมแก่ผู้เข้าแข่งขัน บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนต่อเสียงกลองเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันต้องมีความชำนาญที่จะให้คะแนนว่ากลองของฝ่ายใดดังกว่าและมีความ รอบรู้ในเรื่องกลองเส็งเป็นอย่างดี เพราะหากการตัดสินไม่ตรงกับความรู้สึก หรือ การได้ยินของชาวบ้าน ก็อาจจะถูกชาวบ้านโห่หรือขว้างปาเอา ในอดีต เคยมีเรื่องเล่าว่า ผู้ที่เป็นกรรมการตัดสินบางราย ถึงกับต้องปีนต้นไม้ขึ้นไปฟังเสียงกลอง เพื่อให้แน่ใจว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะ การตั้งกรรมการมีจำนวนเป็นเลขคี่ เช่น ๓ คน ๕ คน
การประกบคู่
การประกบคู่ คือ การเลือกหาคู่ที่เหมาะสมเข้าแข่งขันกัน จำเป็นต้องมีการกำหนดกติกา เหมือนกับการเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ คือ
๑. กรรมการจะต้องประกบคู่ (เปรียบคู่) เหมือนกับเปรียบมวย โดยยึดเอาขนาดของกลองเป็นเกณฑ์ บางหมู่บ้านที่มีความพิถีพิถัน ก็ต้องดูอายุผู้ตีด้วย เพราะถ้าใช้คนแก่มาตีแข่งขันกับคนหนุ่ม ก็สู้คนหนุ่มไม่ได้ บางหมู่บ้านนั้นก็ไม่เกี่ยงขนาด ขอให้ได้แข่งขันเหมือนนักมวยไม่เกี่ยงน้ำหนัก ในบางครั้งกฎเกณฑ์นี้จึงไม่เป็นกฎระเบียบที่ตายตัวนัก
๒. การกำหนดไม้ตี ตามปกติการแข่งขันกลองเส็ง จะแข่งขันกันทีละ ๒ คณะ แต่ละคณะจะใช้ทีมละ ๒ ลูก ใช้ไม้ตีลูกละไม้ กำหนดผู้ตีคณะละ ๕ คน ซึ่งเรียงตามลำดับการตีว่า ผู้ตีไม้ ๑ ผู้ตีไม้ ๒ ผู้ตีไม้ ๓ ผู้ตีไม้ ๔ ผู้ตีไม้ ๕ ในกรณีที่มีคณะกลองเส็งเข้าสมัครแข่งขันจำนวนมาก กรรมการมักจะใช้วิธีจับฉลากแบ่งสายให้เท่ากัน ทำการประกบคู่ให้เสร็จ และกำหนดวันเวลาแข่งขันให้ทราบเพื่อให้ผู้แข่งได้เตรียมความพร้อม หลังจากประกบคู่ได้แล้ว ผู้เข้าแข่งขันจะต้องรับทราบเกี่ยวกับระเบียบการแข่งขันด้วย
ระเบียบการแข่งขัน
ปัจจุบันการตัดสินกลองเส็งมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงของคณะกรรมการเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่นในสมัยโบราณ บางแห่งใช้การจุดเทียนตั้งไว้ให้ผู้ตีกลองแต่ละฝ่ายโหมตี ถ้าฝ่ายใดสามารถตีกลองจนความสั่นสะเทือนของเสียงทำให้เทียนดับได้ก็ถือว่า ชนะ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ มีการประกวดการแข่งขันกลองเส็งในงานบุญพระเวส ซึ่งเป็นการประกวดครั้งที่ ๑ มีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินการแข่งขันและการให้คะแนนอยู่บ้างจนทำให้ผู้เข้า แข่งขันไม่พอใจ และกรรมการได้หาวิธีใหม่จนหาข้อยุติได้
ระเบียบการแข่งขันกลองเส็ง มีดังนี้
๑. การแต่งกาย ผู้ตีกลองจะต้องกายในรูปแบบที่เน้นถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวอีสานเป็นหลัก เช่น ใส่เสื้อม่อฮ่อม นุ่งโสร่ง
๒. การกำหนดกลอง กลองที่จะนำมาแข่งขัน หลังจากประกบคู่แล้วเมื่อถึงเวลาแข่งห้ามเปลี่ยนเอากลองลูกอื่นมาตีแทน 
๓.การกำหนดผู้ตี ก่อนแข่งผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องเข้ารายงานตัวก่อน ๑ ชั่วโมง มิฉะนั้นจะถูกปรับแพ้
๔. ไม้ตีกลอง สามารถใช้ได้เพียง ๑ คู่ หากไม้หลุดมือ จะถูกหักคะแนน เราเรียกว่า หมดหนทางสู้ (แพ้ฟาล์ว)
๕. กำหนดเวลา เมื่อถึงเวลาจะทำการแข่งขันผู้ตีทั้ง ๕ คน จะอยู่ในบริเวณแข่งขัน ต้องเรียงคนตามที่กรรมการเรียก หากสลับตัวผู้ตีโดยเด็ดขาด
๖. วิธีตีแข่งขัน ผู้แข่งจะดูสัญญาณ ธงเขียวพัดไปมาอยู่แสดงว่าเริ่มตี และหากหยุดตีกรรมการจะยกธงขึ้น
๗. การตัดสิน จะยึดเอาหลักความดังของเสียงเป็นเกณฑ์ หากฝ่ายใดชนะ กรรมการจะให้ ๑ คะแนน แต่ถ้าแพ้ก็จะให้ ๐ คะแนน
๘. การปรับให้แพ้ มีหลายกรณีตามข้อ ๑,, 
๙.เหตุสุดวิสัย ถ้าขณะแข่งขันหน้ากลองกับฉีกขาดแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้แพ้
๑๐.ผลการตัดสิน หากกรรมการทั้ง ๕ ตัดสินแล้วจะเป็นผลทันทีไม่การประท้วงทั้งสิ้น
การเตรียมความพร้อม
๑. การเตรียมความพร้อมของคณะกรรมการ
สิ่งที่จะต้องเตรียมคือ การเตรียมสถานที่ จะต้องกำหนดอย่างชัดเจน ต้องมีการวางแผนการประชุมอย่างรัดกุม
๑.๑ การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเวที คือเป็นเวทีพื้นยกชั่วคราว พื้นปูด้วยไม้กระดาน กว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๖๐ เซนติเมตร บนเวทีมีขาหยั่งเอียงประมาณ ๖๐ องศา
๑.๒ เตรียมความพร้อมเรื่องธง ได้แก่ธงสีเขียว 
๑.๓ เตรียมความพร้อมเรื่องแสง เสียง เพราะต้องอาศัยเครื่องขยายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ หากเช่นนั้นกลองจะกบเสียงผู้บรรยาย
๑.๔ กรรมการต้องทำความเข้าใจกับกติกา และผลการตัดสิน

๒. การเตรียมความพร้อมของผู้เข้าแข่งขัน
๒.๑ เตรียมตัวผู้ตีกลอง ควรเลือกคนที่มีพละกำลังและความสามารถ และประสบการณ์
๒.๒ เตรียมยาพาหนะ เพื่อรับส่งคณะแข่งขันและขนกลอง
๒.๓ เตรียมยานพาหนะสำรับกองเชียร์ที่จะไปให้กำลังใจ
๒.๔ นำกลองที่ได้ไม้ เข้าน้ำกลอง คือนำกลองกลิ้งไปกับรางไม้ไผ่ นอกจากนี้ก็ใช้น้ำฉีดเป็นละอองเข้ารูแพ เพื่อให้หนังนุ่ม ไม่ขาด เป็นเทคนิคหนึ่งที่สำคัญ
๒.๕ ทดลองตีกลอง โยผู้ตีจะเป็นหัวหน้าทีมเพื่อจะได้รูว่ากลองเสียงดัง แหลมได้ดี ก่อนจะนำขึ้นแข่งขัน
ในการแข่งขันผู้ตีจะต้องใช้สมาธิ สติปัญญามากในการฟังเสียงกลองของตนเอง และเสียงของคู่แข่ง และใช้สายตาในการข่มขวัญผู้ต่อสู้ และเริ่มตีกลองเบาๆ เรียกว่า การเดาะกลอง และโหมกลองให้เร็วขึ้น และส่วนมากการแข่งขันจะวัดเสียงที่ยกสุดท้าย 

๓. การเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ
เกี่ยวกับพาหนะ ซึ่งจำเป็นมากเพราะจะได้สะดวกในการเดินทางและขนส่งสัมภาระ และกองเชียร์เพื่อไปเชียร์หมู่บ้านตัวเอง ทุนทรัพย์ เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต่อการแข่ง ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดของงาน
รางวัล
เป็นแรงเสริมอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะ เป็น ช่างทำกลอง ผู้ตีกลอง แม้แต่ชาวบ้านเมื่อได้นับชัยชนะก็จะดีใจไปด้วยการให้รางวัลผู้จัดการแข่งขัน ต้องจัดให้เสมอ จัดไว้เพื่อเป็นสินน้ำใจในการเข้าร่วมการแข่งขัน รางวัลในสมัยก่อนจะเป็นของกิน ของใช้ ซึ่ง มีตะกร้าไม้ไผ่สาน ประกอบด้วย ไหม ขนม น้ำอ้อย กล้วย ข้าวต้มมัด ต่อมาค่าของเศรษฐกิจสูงขึ้น รางวัลจึงเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือ อาจจะเป็นโล่เกียรติยศ หรือถ้วยรางวัล และ เกียรติบัตรก็ได้
ขั้นตอนและวิธีการเส็งกลอง
เนื่องจากกลองเส็ง เป็นกลองที่จัดทำขึ้นมาเพื่อตีประโคมให้เกิดเสียงดังเป็นสำคัญ ต่อมามีผู้คิดให้นำมาประชันหาความเด่นว่ากลองคู่ใดจะมีเสียงดังกว่ากลอง อื่นๆ จนกระทั่งเกิดการแข่งขัน เอาแพ้เอาชนะกันเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงของวัดและหมู่บ้านที่เป็นเจ้าของ การตีกลองที่เป็นการแข่งขัน จึงจำเป็นต้องอาศัยกติกา หรือหลักเกณฑ์ในการแข่งขัน จึงจำเป็นต้องอาศัยกติกา หรือหลักเกณฑ์ในการแข่งขันเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมขึ้น
วัดโนนสว่าง บ้านโนนสว่าง ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี มีการแข่งขันเส็งกลองกริ่งในเทศกาลต่อไปนี้
1. เทศกาลบุญมหาชาติ (ประมาณเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม ของทุกปี)
2. วันคล้ายวันเกิดพระครูพิพัฒน์วิทยาคม วันที่ ๗ มิถุนายน ของทุกปี
3. วันเทศกาลบุญออกพรรษา



















วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557