วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ข่าวสารงานบุญ

เฟสบุ๊ค เพจ ศิษย์วัดโนนสว่าง https://www.facebook.com/643794349035925
 
เฟสบุ๊ค กลุ่ม ศิษย์วัดโนนสว่าง  https://www.facebook.com/groups/542771909168564
 
 






ประวัติพระศรีรัตนศักยมุนี (หลวงพ่อบุษราคัม)


ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2548 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานเททองหล่อพระศรีรัตนศักยมุนี (หลวงพ่อบุษราคัม) ณ วัดโนนสว่าง ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

   ประวัติความเป็นมาในการสร้างพระพุทธรูป เพื่อเป็นองค์พระประธานในอุโบสถวัดโนนสว่างต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี มีความเป็นมาว่า พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (พระอาจารย์เจริญ ฐานยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดโนนสว่างก่อนที่ท่านจะดำริถึงการสร้างอุโบสถก็ได้นิมิตเห็นพระพุทธรูป 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องได้เสด็จมาทางนภากาศในปางขัดสมาธิ ได้เปล่งแสงรัศมีสว่างไสวไปทั่วทั้งวัด ตามในนิมิตของท่านได้มาหยุดอยู่ตรงหน้า ท่านจึงได้กราบเรียนถามพระพุทธรูปทรงเครื่องทั้งสามองค์นั้นว่า ท่านเสด็จมาจากไหน และมาเพื่ออะไร พระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็ตอบกับท่านเป็นภาษาเหนือว่า “มาชุ่มมาเย็นให้” หรือจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้วัดนี้ พอพระพุทธรูปทั้งสามองค์กล่าวกับท่านเช่นนั้นแล้ว พลันกลับกลายเป็นแสงสว่างดุจประทีปอันโชติช่วงลอยไปดับลงตรงลานดินกว้างหน้าศาลาการเปรียญซึ่งเป็นอุโบสถในทุกวัน พอรุ่งเช้าของวันต่อมาขณะที่ท่านนั่งอยู่ในกุฎิ ก็ได้มีพระเถระซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งจำนวน 3 รูป เดินทางมาจากวัดอนาลโยทิพยาราม (ดอยบุษราคัม อ.เมืองพะเยา คือพระราชสังวรญาณ (พระอาจารย์ไพบูลย์ สุมงฺคโล) แห่งวัดอนาลโยทิพยาราม ดอยบุษราคัมนั้นเอง โดยที่พระครูพิพัฒน์วิทยาคมไม่ทราบมาก่อนว่าท่านเจ้าคุณจะมาเยี่ยมที่วัดโนนสว่าง ซึ่งระยะทางจาก จ.พะเยา มายัง จ.อุดรธานี ไกลมาก เมื่อท่านได้กราบนมัสการหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคฺโล เรียบร้อยแล้ว ท่านก็นึงถึงนิมิตของท่านที่คล้ายเหตุการณ์ในวันนี้ ท่านจึงกราบเรียนเล่าเรื่องราวในนิมิตให้หลวงพ่อไพบูลย์สดับฟัง เมื่อฟังจบหลวงพ่อไพบูลย์ก็ยิ้มคล้ายกับว่าเป็นเรื่องไม่น่าแปลกอะไร เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจให้กับท่านพระครูยิ่งนัก อีกนัยหนึ่งเหมือนหลวงพ่อไพบูลย์รู้เรื่องที่จะเล่าถวาย
ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ เป็นพระเถระที่พระครูพิพัฒน์วิทยาคม ให้ความเคารพและนับถือยิ่ง หลังจากที่ได้เล่าเนื้อความตามนิมิตถวายให้หลวงพ่อไพบูลย์ฟังเสร็จแล้ว ไม่นานท่านจึงเดินทางกลับ จ.พะเยา ต่อมาท่านพระครูพิพัฒน์วิทยาคม ได้ตั้งสัจจะไว้ในใจว่าจะต้องสร้างพระประธานเพื่อประดิษฐานไว้ในอุโบสถ หน้าตักกว้าง 109 นิ้ว เป็นเนื้อทองสัมฤทธิ์ให้ได้ ในชั้นแรกพระประธานที่ท่านจะให้ช่างปั้นขึ้นมานี้ไม่ใช่หลวงพ่อบุษราคัม แต่ให้ปั้นตามแบบพระพุทธรูปเก่าองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระเนื้อสัมฤทธิ์เก่าแก่ ศิลปะแบบลานช้าง ท่านก็ได้บอกลักษณะของพระพุทธรูปองค์นั้นให้ช่างฟัง ต่อมาช่างได้ปั้นตามความต้องการของท่าน เมื่อช่างได้ปั้นขึ้นถึงพระพักตร์ของพระพุทธรูปจึงนิมนต์ท่านมาดู เมื่อพิจารณาดูแล้วท่านก็บอกกับช่างว่าพระพักตร์ไม่เหมือนเลยไม่เป็นที่พอใจ จึงให้ปั้นใหม่ ช่างปั้นกี่ครั้ง ๆ ก็ไม่เป็นที่พอใจ ทำให้ท่านพระครูเกิดความสงสัยขึ้นในใจว่า “ทำไมปั้นไม่ได้สักทีด้วยว่าฝีมือช่างก็ไม่ธรรมดา” ท่านจึงพินิจพิจารณาพระพุทธรูปโดยละเอียดอีกครั้งด้วยความประหลาดใจ คิดในใจว่า “ทำไมถึงปั้นไม่ได้สักที” ทันใดนั้นกลับมีเสียงหนึ่งดังกังวานแว่วกล่าวกับตัวท่านว่า “เรามาขออยู่ตั้งนานแล้ว ทำไมไม่ปั้นเรา ทำไมต้องไปปั้นองค์อื่น” พอเสียงกังวานนั้นหายไปไม่นาน ท่านก็เลยย้อนนึกถึงนิมิตเมื่อคราว
ครั้งก่อน เมื่อคิดโดยละเอียดถี่ถ้วน จึงเข้าใจในนิมิตธรรมอันประเสริฐนั้น ต่อมาจึงให้ช่างเลิกปั้นพระพุทธรูปตามแบบองค์เดิม ให้ปั้นตามแบบดั่งในนิมิตนั้นเอง เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อช่างเริ่มปั้นทุกอย่างเป็นที่ราบรื่น เมื่อแล้วเสร็จจึงนิมนต์ท่านพระครูมาดู เมื่อท่านพิจารณาดูแล้วจึงพูดว่า “นี่แหละเหมือนกับที่เห็นในนิมิตเรา” นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่งนักสำหรับพระประธานองค์นี้ต่อมาท่านได้ขอให้ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อไพบูลย์) ถวายพระนามพระปฏิมากรองค์สำคัญ ท่านถวายพระนามว่า “พระศรีรัตนศักยมุนี” ทราบเรื่องจากท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณในภายหลังว่า ตัวท่านไม่ได้เป็นผู้ถวายพระนาม แท้จริงผู้ถวายพระนามคือ ท้าวสักกะเทวราช

   พระศรีรัตนศักยมุนี หรือที่เรียกอีกนามว่า หลวงพ่อบุษราคัม องค์นี้ท่านพระครูพิพัฒน์วิทยาคมกล่าวว่า ภายหน้าจักเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองในเขตนี้ ด้วยว่าเป็นพระพุทธรูปขององค์กษัตริย์ ผู้ที่จะเททองหล่อต้องไม่ใช่สามัญชนธรรมดา ต้องเป็นผู้มีบุญญาธิการเปี่ยมล้น ต้องเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ประดุจพระพุทธรูปองค์สำคัญในครั้งโบราณกาล เช่น หลวงพ่อพระใส พระเสริม พระสุก ที่เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งพระราชธิดาแห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปควรแก่การกราบสักการะทั้งในปัจจุบันและในอนาคตกาลชั่วลูกชั่วหลาน นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานเททองหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์สำคัญ ในวันที่ 29 มกราคม 2548 อันนำมาซึ่งความปิติยินดีเป็นล้นพ้นแก่เหล่าพสกนิกร ชาวอำเภอหนองวัวซอ และชาวจังหวัดอุดรธานีทุกผู้ทุกนาม.